วันอาทิตย์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ลักษณะของภูมิปัญญาพื้นบ้าน
                
พัฒนาการของภูมิปัญญาชาวบ้าน
ภูมิปัญญาชาวบ้าน เป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นในช่วงที่กระแสวิพากษ์วิจารณ์ทิศทางการพัฒนาประเทศกำลังแพร่หลายในสังคมไทย หรือเมื่อประมาณ 20 กว่าปีที่ผ่านมา ผลจากการปะทะกันของความคิดสองกระแสดังกล่าวข้างต้น ช่วยให้สังคมไทยมีโอกาสทบทวนแนวคิดและทิศทางการพัฒนาในอดีต แสวงหาทางเลือกที่เหมาะสมและสอดคล้องกับสังคมของเรา
การพัฒนาชนบท ซึ่งเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับชีวิตผู้คนจำนวนมากที่สุดในประเทศไทยนั้น แต่เดิมเป็นหน้าที่หรืองานของรัฐ กิจกรรมหรืองานพัฒนาในยุคแรกๆเกิดขึ้นบนพื้นฐานการมองประชาชนในฐานะโง่ จน เจ็บ ขาดความรู้เรื่องการทำมาหากิน ล้าหลัง ไม่ทันสมัย และด้อยพัฒนา เจ้าหน้าที่และหน่วยงานของรัฐจึงมีหน้าที่เข้าไปช่วยเหลือคนเหล่านั้นให้มีความรู้และรายได้เพิ่มขึ้น โดยการฝึกอบรมอาชีพ จัดหาแหล่งทุน และบางครั้งก็ช่วยจัดการด้านการตลาด บทบาทของชาวบ้านเป็นเพียงผู้รับ ส่วนรัฐเป็นผู้ให้ แนวทางการพัฒนานี้ได้กลายเป็นหลักในการทำงานในช่วง 20 ปีแรกของการพัฒนาชนบทไทย คือระหว่าง พ..2503-2523
แม้ว่าในช่วงเวลาดังกล่าว แนวคิดในการพัฒนาชนบทไทยจะเปลี่ยนไปบ้าง จากการเน้นเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มรายได้ให้ประชาชนมาเป็นแนวเศรษฐกิจ-สังคม เพราะเห็นว่าการพัฒนาต้องกะทำควบคู่กันทั้งสองด้าน จึงนำเรื่องกลุ่มเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่วิธีทำงานก็ยังไม่เปลี่ยนไปจากเดิม คือหน่วยงานและเจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้กำหนดและมีบทบาทสำคัญเหนือชาวบ้านตลอดมา
ปี พ..2524 ได้เกิดปรากฎการณ์สำคัญที่นำไปสู่การพลิกโฉมการพัฒนาชนบทไทยในเวลาต่อมา กล่าวคือ องค์กรเอกชน (Non-Government Organization =NGO) ที่ทำงานด้านการพัฒนาชนบทจำนวนหนึ่งได้ร่วมกันวิเคราะห์งานที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนั้น พร้อมกับตั้งคำถาม 25 ข้อ และจัดพิมพ์เป็นหนังสือเล่มเล็กๆชื่อ ใครพัฒนาใคร คำถามเหล่านี้เกิดจากงานพัฒนาที่ทำไปแล้วได้สร้างปัญหาให้ชาวบ้านมากมาย และวิธีการทำงานก็ยังเป็นแบบเดิม คือการสอน การบอกเล่า การจัดกระบวนการ และช่วยชาวบ้านทำงาน
ความหมายของภูมิปัญญาชาวบ้าน

3.1     การให้ความหมาย  นักวิชาการและผู้ที่เกี่ยวข้อง สนใจงานด้านภูมิปัญญาต่างเห็นพ้องต้องกันในการให้ความหมายภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่ให้ความสำคัญต่อองค์ความรู้  ความรู้ และความรอบรู้ในด้านต่างๆของชาวบ้าน และชาวบ้านสามารถนำสิ่งเหล่านั้นมาใช้แก้ปัญหาที่ต้องประสบในชีวิตประจำวัน เพื่อให้ชีวิต ครอบครัว และชุมชนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข หรือเกิดดุลยภาพในทุกระดับ

3.2     องค์ประกอบ การให้ความหมายดังกล่าวข้างต้น ทำให้สามารถแยกองค์ประกอบของภูมิปัญญาชาวบ้านให้เห็นเด่นชัดขึ้น ดังนี้
1)  องค์ความรู้  หมายถึง ความรู้หลายอย่างมาเชื่อมโยงกันเป็นชุดความรู้  ด้วยเหตุนี้ กิจกรรมใดของชาวบ้านจะถูกยกให้เป็นกิจกรรมทางภูมิปัญญาก็ต่อเมื่อได้รับการพิสูจน์แล้วว่ากิจกรรมนั้นเกิดจากองค์ความรู้ ไม่ใช่ความรู้เดียว
ตัวอย่าง เกษตรธาตุสี่ ของนายหรน  หมัดหลี  อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา  นายหรน  หมัดหลีเริ่มต้นทำการเกษตรจากการรู้จักชีวิตและครอบครัวของตัวเอง ในฐานะเกษตรกรยากจน เขาต้องรู้จักพืชที่ต้องการจะปลูกทุกชนิดเป็นอย่างดี และนำความรู้เหล่านั้นมาวางแผนการเพาะปลูก พืชชนิดใดจะให้ผลภายใน 1 เดือน  3 เดือน  6 เดือน  และ12 เดือน เพื่อให้ครอบครัวมีอาหารและรายได้ตลอดปี 
นอกจากนั้น นายหรน  หมัดหลียังมีความรู้เรื่องดิน ก่อนปลูกพืชทุกชนิดต้องมีการทดสอบว่าเหมาะสมกับดินบริเวณนั้นหรือไม่ มีความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติและสังคมของพืช  ความรู้นี้มีพื้นฐานมาจากการร่ำเรียนแพทย์แผนไทย ทำให้เขามองพืชทุกชนิดว่ามีธาตุสี่ ได้แก่ ดิน น้ำ ลม และไฟ เช่นเดียวกับคน และได้ใช้ความรู้นี้มาวางหลักในการเพาะปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น หลักในการปลูกก็คือการนำพืชที่มีลักษณะตรงข้ามกันมาปลูกในหลุมเดียวกัน เช่น พืชที่มีธาตุน้ำต้องปลูกคู่กับพืชที่มีธาตุไฟ เป็นต้น การปลูกพืชในลักษณะนี้จะไม่ทำให้ต้นไม้แต่ละชนิดส่งผลกระทบซึ่งกันและกัน ต้นไม้แต่ละชนิดต่างให้ดอกผลตามธรรมชาติของมันเอง
นายหรน  หมัดหลี เห็นว่าไม้ผลพันธุ์ดี เช่น ทุเรียนหมอนทองมีราคาแพง คนยากจนไม่มีกำลังซื้อ เขาจึงปลูกทุเรียนพื้นบ้าน ซึ่งมีราคาถูก ทำให้คนจนในชุมชนสามารถซื้อไปบริโภคได้ ตลาดของเขาจึงอยู่ที่หมู่บ้าน ไม่ใช่การส่งออกสู่เมืองใหญ่ หรือต่างประเทศ ตลาดของนายหรน  หมัดหลีจึงเป็นตลาดของคนยากคนจน หวังพึ่งตนเอง ทำให้เขาไม่ตกเป็นเบี้ยล่างของพ่อค้า
การเชื่อมโยงความรู้หลายด้านนี้เข้าด้วยกัน กลายเป็นองค์หรือชุดความรู้ด้านการเกษตรของนายหรน  หมัดหลี ที่เรียกว่า เกษตรกรรมธาตุสี่
2)  เทคนิค หรือวิธีการ หมายถึง กลวิธีหรือการจัดการในเรื่องใดเรื่องหนึ่งให้สอดคล้องกับองค์ความรู้ เทคนิคหรือวิธีการจะมีความแตกต่างกันออกไปตามประเภทของภูมิปัญญา เช่น เทคนิคการผลิต เทคนิคการจัดการ และเทคนิคการเชื่อมประสานความสัมพันธ์ เป็นต้น
            ตัวอย่าง  จากองค์ความรู้ด้านการเกษตรธาตุสี่ ดังกล่าวแล้วข้างต้น นายหรน  หมัดหลีได้นำมาปฏิบัติผ่านทางเทคนิคหรือวิธีเพาะปลูกพืช  ในช่วงแรก เขาเริ่มปลูกพริก มะเขือ แตงกวา และตะไคร้ จากนั้นจึงปลูกกล้วย และไม้ผลไม้ยืนต้นอื่นๆตามมา โดยเฉพาะไม้ผลไม้ยืนต้น จะปลูกหลุมละ 3 ต้น แต่ละต้นมีธาตุต่างกันตามหลักการเพาะปลูกที่กล่าวข้างต้น นอกจากนั้น นายหรน  หมัดหลียังคำนึงถึงความสูง รูปทรง และลักษณะการให้ดอกออกผลของไม้แต่ละต้นที่นำมาปลูกร่วมกัน
            ในด้านการดูแลหรือบำรุงรักษาต้นไม้ นายหรน  หมัดหลีมีวิธีปฏิบัติที่สอดคล้องกับธรรมชาติ เช่น ไม่ถางหญ้าในหน้าแล้ง ใช้ปุ๋ยจากซากพืชซากสัตว์ที่เน่าเปื่อย และไม่ตัดแต่งกิ่ง เพราะเชื่อว่าธรรมชาติจะจัดการสิ่งเหล่านี้ด้วยตัวมันเอง กล่าวคือกิ่งที่อยู่ไม่ได้ ไม่เหมาะสมก็จะร่วงหล่นไปเอง
            ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นเทคนิคหรือวิธีการเพาะปลูกพืช ที่ทำให้สวนของนายหรน หมัดหลีมีลักษณะเฉพาะ แตกต่างจากสวนของเกษตรกรอื่นๆ แต่สอดคล้องกับองค์ความรู้ของตนที่สั่งสมมา
3)  การรับใช้ชีวิตในปัจจุบัน  ภูมิปัญญาชาวบ้านไม่ใช่เรื่องเล่าในอดีต ไม่ใช่ของเก่าที่แสดงในพิพิธภัณฑ์ แต่เป็นสิ่งที่มีตัวตน และผ่านการพิสูจน์แล้วว่าสามารถรับใช้วิถีชีวิตผู้คนในปัจจุบัน หรือมีพลังในสังคมยุคใหม่
การทำการเกษตรแบบธาตุสี่ของนายหรน  หมัดหลีได้พิสูจน์ให้เห็นว่าครอบครัวของเขามีอาหาร มีรายได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดี และส่งเสียลูกจำนวน 11 คนให้ได้รับการศึกษาอย่างถึง และเกือบทั้งหมดเรียนจบระดับอุดมศึกษา  และการเกษตรแบบนี้ยังได้กลายเป็นตัวแบบหรือแบบอย่างที่ดีที่เกษตรกรทั่วประเทศเดินทางมาเรียนรู้อย่างไม่ขาดสาย
การพิจารณาองค์ประกอบของภูมิปัญญาชาวบ้าน ในฐานะความรู้ที่กล่าวนี้ ทำให้สามารถวิเคราะห์ต่อไปได้ว่า ภูมิปัญญาชาวบ้านน่าจะเป็นคำเดียวกับเทคโนโลยีชาวบ้าน เพราะเทคโนโลยีได้รวมเอาความรู้และเทคนิคไว้ด้วยกัน เทคโนโลยีไม่ใช่เครื่องมือ หรือเครื่องใช้ไม้สอยเพียงอย่างเดียว
ลักษณะของภูมิปัญญาชาวบ้าน
ภูมิปัญญาชาวบ้านทั้งในฐานะความรู้และกระบวนการจะมีลักษณะโดยรวม ดังนี้
1)      เป็นรวมที่เกี่ยวกับองค์ความรู้ เทคนิค และมีพลังในสังคมปัจจุบัน
2)  แสดงระหว่างความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน คนกับธรรมชาติแวดล้อม และคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติ
3)      เป็นองค์รวม หรือเชื่อมโยงกิจกรรมทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิต
4)  เป็นเรื่องของการแก้ปัญหา การจัดการ การปรับตัว การเรียนรู้เพื่อความอยู่รอดของบุคคล ชุมชน และสังคม
5)      เป็นแกนหลักหรือกระบวนทัศน์ในการมองชีวิต และเป็นพื้นฐานความรู้ในเรื่องต่างๆ
6)      มีการเปลี่ยนแปลงเพื่อปรับสมดุลในการพัฒนาทางสังคมตลอดเวลา
7)      มีลักษณะเฉพาะหรือเอกลักษณ์ในตัวเอง

    ปัจจัยที่มีผลต่อพัฒนาการของภูมิปัญญาชาวบ้าน
1)      ความรู้เดิมในเรื่องนั้นๆ ผสมผสานกับความรู้ใหม่ที่ได้รับ
2)      การสั่งสมและการสืบทอดความเรื่องในเรื่องนั้นๆ
3)      ประสบการณ์เดิมที่สามารถเทียบเคียงกับเหตุการณ์หรือประสบการณ์ใหม่
4)      สถานการณ์ที่ไม่มั่นคง หรือมีปัญหาที่ยังหาทางออกไม่ได้
5)      รากฐานทางพระพุทธศาสนา หรือศาสนาอื่นๆที่ผู้คนยึดถือ

 ภูมิปัญญาชาวบ้านสู่ภูมิปัญญาไทย

การให้ความหมายภูมิปัญญาชาวบ้านในฐานะกระบวนการดังที่ได้กล่าวแล้วในตอนต้น จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการวิเคราะห์ให้เห็นการเติบโตและการพัฒนาของภูมิปัญญาชาวบ้านเข้าสู่ภูมิปัญญาไทย หรือจากระดับชุมชนสู่ระดับชาติ กระบวนการภูมิปัญญา ซึ่งในที่นี้ใช้ในความหมายเดียวกับกระบวนการเรียนรู้ที่ได้เกิดขึ้นแล้วในทุกส่วนของประเทศ กำลังเติบโต และประสานพลังเข้าด้วยกันเพื่อแก้ปัญหาและสร้างความเป็นปึกแผ่นให้แก่ผู้คน ชุมชน และสังคมไทย
นับจากปี พ..2504 ซึ่งเป็นปีแรกที่ประเทศไทยได้ประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (..2504-2509) เป็นต้นมา รัฐบาลในขณะนั้นได้พยายามผลักดันนโยบายพัฒนาประเทศให้เข้าสู่ความทันสมัย ขณะที่ประชาชนและชุมชนยังไม่พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลง ผู้ใหญ่วิบูลย์  เข็มเฉลิม ได้วิเคราะห์สภาพชุมชนและเกษตรกรในยุคนั้นว่า แผนพัฒนาเศรษฐกิจฯเกิดขึ้นในภาวะที่ชุมชนและเกษตรกรไม่พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่โง่หรือล้าหลัง แต่ไม่รู้จะเปลี่ยนไปทำไม เพราะขณะนั้นชุมชนมีเศรษฐกิจพอเพียง ทรัพยากรธรรมชาติสมบูรณ์ และระบบความสัมพันธ์แบบแบ่งปันทำให้คนในยุคนั้นมีชีวิตไม่เดือดร้อน   ผู้ใหญ่วิบูลย์  เข็มเฉลิมย้ำว่า คนในภาคเกษตรไม่พร้อม ผมเองก็ไม่พร้อม ไม่สามารถรองรับวิถีชีวิตจากนโยบาย แต่ต้องทำตามสั่งเรื่อยมา อาศัยเทคโนโลยีในการแก้ปัญหา เขาฝึกให้รู้จักขอ สุดท้ายใช้วิธีประท้วง อย่างไรก็ตาม ผลจากการใช้นโยบายของรัฐ ทำให้เกษตรกรและชุมชนต้องรับสิ่งใหม่ๆที่เข้ามาอย่างรวดเร็ว ระยะเวลาเพียงไม่กี่สิบปีหลังจากนั้นระบบการผลิต ความสัมพันธ์ และคุณค่าต่างๆ รวมทั้งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชุมชนได้ถูกทำลายลงจนยากที่จะฟื้นฟูให้ได้ดังเดิม
ในช่วง 20 กว่าปีมานี้ เกษตรกรและชุมชนได้ปรับตัวครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง เมื่อพบว่าความสัมพันธ์ใหม่กับภายนอกทำให้ตนเสียเปรียบ การเรียนรู้ใหม่ทำให้เกิดการรวมกลุ่มสร้างองค์กรชุมชนหรือองค์กรชาวบ้านเพื่อจัดความสัมพันธ์ใหม่กับภายนอก จัดการทรัพยากรใหม่ และสร้างระบบเศรษฐกิจใหม่ที่จะทำให้ชุมชนอยู่รอดและยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนในสังคมชุมชน
กระบวนการภูมิปัญญาชาวบ้าน  เป็นกระบวนการเรียนรู้แบบลองถูกลองผิด หรือทำไปเรียนไป ซึ่งเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไปในชุมชนจำนวนมาก หัวใจของการเรียนรู้แบบนี้อยู่ที่การปฏิบัติ โดยเฉพาะชุมชนที่ได้พัฒนาการเรียนรู้มาแล้วระดับหนึ่ง และมองไม่เห็นทางออกภายใต้ระบบเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมวัฒนธรรมในขณะนั้น ชุมชนต้องการสิ่งใหม่หรือทางเลือกใหม่  ต้องการความรู้ใหม่ เมื่อไม่มีหน่วยงานหรือองค์ใดตอบสนองได้ชุมชนจึงต้องสร้างกิจกรรม เรียนรู้จากกิจกรรม และสรุปประสบการณ์ออกมาเป็นความรู้ใหม่ ระบบการจัดการใหม่ที่จะช่วยให้ชุมชนหลุดพ้นจากการครอบงำของระบบเก่า
ชุมชนไม้เรียง อำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งได้เรียนรู้ระบบการผลิตและการจัดการยางพาราใหม่ผ่านประสบการณ์ของกลุ่มเกษตรกรทำสวนไม้เรียง จนไม้เรียงกลายเป็นต้นแบบของอุตสาหกรรมชุมชน เป็นโรงเรียนให้กลุ่มเกษตรกรและชุมชนชาวสวนยางทั่วประเทศได้เรียนรู้และฝึกฝน  ที่สำคัญประสบการณ์ชุดนี้ได้กลายเป็นนโยบายในการส่งเสริมและพัฒนายางพาราของรัฐบาลในขณะนั้น ส่งผลให้เกิดโรงงานแปรรูปยางพารากระจายไปทุกจังหวัดที่ปลูกยาง ดังรายละเอียดที่กล่าวแล้วในกรณีศึกษาข้างต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น